ในระหว่างที่วิกฤติการณ์ ร.ศ. 112 เกิดขึ้นนั้น ว่ากันว่ากรุงเทพฯ กลายเป็นศูนย์กลางของจารชนนานาชาติที่ถูกส่งเข้ามาหาข่าวเพื่อกระทำจรยุทธ์ในอันที่จะโฆษณาชวนเชื่อและปลุกปั่นให้เกิดความระส่ำระสายก่อนที่เรือรบฝรั่งเศสจะถูกส่งเข้ามาเพื่อเผด็จศึกเป็นขั้นตอนสุดท้าย นักประวัติศาสตร์ทั้งไทยและเทศกล่าวถึงบุคคลหลายเชื้อชาติที่ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาช่วงชิงพื้นที่ข่าวและสืบราชการลับให้กับหน่วยข่าวกรองของตน ในจำนวนนี้มีชาวฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมนี เดนมาร์ก เบลเยียม และฮอลแลนด์ หรือแม้แต่คนไทยเอง
ข้อมูลใหม่พบว่าในระหว่างเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2436 ได้มีเจ้านายเขมรองค์หนึ่งเล็ดลอดเข้ามายังกรุงเทพฯ ด้วยเช่นกัน จากนั้นก็บ่ายหน้าตรงไปยังปารีสด้วยเหตุผลอันไม่เป็นที่เปิดเผย เขาคือใคร และทำไมประวัติศาสตร์ไทยไม่เคยให้ความสำคัญกับคนๆ นี้
หลักฐานหลายชิ้นในรูปแผนที่และภาพกราฟิกแสดงความลึกของร่องน้ำสันดอนและที่ตั้งป้อมปืนบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำแหน่งของปืนใหญ่เสือหมอบและคลังแสงภายในป้อมพระจุลจอมเกล้าและป้อมผีเสื้อสมุทร จากปี ค.ศ. 1893 (ร.ศ. 112/พ.ศ. 2436) ซึ่งเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์กองทัพเรือ ณ กรุงปารีส เป็นตัวอย่างของผลงานโดยพวกสายลับประจำหน่วยข่าวกรองที่แฝงตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ช่วง ร.ศ. 112 ได้โจรกรรมข้อมูลแล้วรายงานส่งไปยังปารีส เพื่อผลประโยชน์ทางการทหาร ก่อนที่เรือรบฝรั่งเศสจะบุกเข้ามาจริงๆ
คงเป็นการยากที่จะปรักปรำผู้หนึ่งผู้ใดว่าเป็นผู้ลักลอบนำข้อมูลเหล่านี้ออกไป แต่ก็เป็นที่เชื่อได้ว่ามีจารชนทั้งต่างชาติ หรือแม้แต่คนไทยเองที่ปะปนอยู่ในสถานที่ราชการทั้งที่กรุงเทพฯ และสมุทรปราการในระยะนั้น เพราะมีคนแปลกหน้าจำนวนมากถูกว่าจ้างเข้ามาประจำการกับหน่วยพิทักษ์พระนคร ในเหตุการณ์ ร.ศ. 112 จนยากที่จะแยกแยะออกมาพิสูจน์สัญชาติได้
เป็นเวลาถึง 117 ปี (นับถึง พ.ศ. 2553) ที่เรื่องราวเกี่ยวกับสายลับหรือจารชนจาก ร.ศ. 112 ถูกกลบเกลื่อนไว้ จนกระทั่งผู้เขียนได้มีโอกาสอ่านข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ของไทยฉบับหนึ่ง สมัย ร.ศ. 112 เขียนว่าได้มีเจ้าเขมรองค์หนึ่ง เดินทางเข้ามากรุงเทพฯ แล้วเล็ดลอดออกไปยังกรุงปารีสอย่างรีบร้อน
รายงานดังกล่าวปรักปรำทันทีว่าเขาเป็นผู้ต้องสงสัย ที่อาจเป็นสายของทางฝรั่งเศส แต่ภายหลังการตรวจสอบเอกลักษณ์บุคคลอย่างละเอียดอีกครั้ง กลับต้องเผชิญกับความจริงที่ว่าเขาอาจเป็นสายลับสองหน้าในคราบนักสืบกิตติมศักดิ์ทำงานให้ทั้งกับรัฐบาล ฝรั่งเศสและฝ่ายตรงข้ามกับฝรั่งเศส อันเป็นประเด็นใหม่ของเรื่องนี้ที่เราคาดไม่ถึงมาก่อน()
เขมรอยู่ฝ่ายไหนในเหตุการณ์ ร.ศ. 112
วิกฤติการณ์ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436/ค.ศ. 1893) เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 มีสาเหตุมาจากความบาดหมางและกินแหนงแคลงใจกันระหว่างไทยกับฝรั่งเศส เรื่องเมืองขึ้นของไทยบนคาบสมุทรอินโดจีน ซึ่งเคยเป็นเมืองขึ้นของไทยอย่างแน่นอน แต่ฝ่ายไทยก็ไม่สามารถหาหลักฐานความเป็นเจ้าของมาอ้างกรรมสิทธิ์ของตนเองได้ ฝรั่งเศสจึงต้องการใช้กำลังเป็นเครื่องตัดสิน
ในความเป็นจริงแล้วเขมรถูกแบ่งแยกออกไปเสียครึ่งหนึ่งภายใต้การปกครองของฝรั่งเศส เมื่อ ร.ศ. 82 (พ.ศ. 2406/ค.ศ. 1863) หรือตั้งแต่ในรัชกาลที่ 4 เป็นผลมาจากการที่สมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์ (ต่อไปจะเรียกสั้นๆ ว่า พระนโรดม – ผู้เขียน) กษัตริย์เขมร ตัดสินใจทำสัญญายอมเข้าเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส เพราะเห็นแก่อำนาจและผลประโยชน์ที่ฝรั่งเศสเสนอให้หากตีตัวออกห่างจากไทย เขมรจึงห่างเหินออกไปโดยปริยายนับแต่นั้น
การตัดสินใจของพระนโรดมเป็นการทำลายความเชื่อมั่นของทั้งบรรพบุรุษเขมรและไทยที่กษัตริย์เขมรเคยฝักใฝ่และนอบน้อมกับไทยตลอดมา แม้แต่สัญญาใจที่ไทยเคยหลงเชื่อว่ากษัตริย์เขมรสวามิภักดิ์ต่อพระมหากษัตริย์ไทยอย่างมั่นคงดังพระราชดำรัสในรัชกาลที่ 5 ความว่า “ได้ยิน (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ) รับสั่งแต่เด็กๆ ว่าถ้าพระหริรักษ์ [พระชนกของพระนโรดม – ผู้เขียน] ยังอยู่ตราบใดไว้ใจเมืองเขมรได้” นั้นช่างเป็นเรื่องเชื่อถือไม่ได้ และไม่มีแก่นสารอะไร()
หมายความว่าตั้งแต่ พ.ศ. 2406 เป็นต้นมา ครึ่งหนึ่งของเขมรได้ตกเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศสโดยพฤตินัยนานมาแล้ว อันได้แก่ เขมรส่วนนอก มีอาณาเขตจากพนมเปญไปจนจรดชายแดนญวนทางภาคตะวันออก และเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอินโดจีน ซึ่งฝรั่งเศสวาดภาพไว้ว่าจะเป็นของฝรั่งเศสทั้งหมดในไม่ช้า ได้แก่ ญวน เขมร และลาว และด้วยเหตุผลที่กษัตริย์เขมรในสมัย ร.ศ. 112 ก็ยังเป็นพระนโรดม เขมรซึ่งฝักใฝ่อยู่กับฝรั่งเศสทั้งกาย วาจา ใจ ก็ย่อมอยู่ข้างฝรั่งเศสเป็นธรรมดา ถึงแม้พระนโรดมจะทรงเคยปวารณาตัวเป็นข้าแผ่นดินไทยและเป็นหนี้บุญคุณรัชกาลที่ 4 ไปจนชีวิตจะหาไม่ ก็เพราะรัชกาลที่ 4 ทรงเคยชุบเลี้ยงพระนโรดมมาตั้งแต่เยาว์วัยในฐานะราชบุตรบุญธรรมก็ตาม แต่พอขึ้นรัชกาลที่ 5 กษัตริย์เขมรก็แปรพักตร์ไปนับถือฝรั่งเศสอย่างมอบกายถวายชีวิต และมิได้มีเยื่อใยต่อเมืองไทยอีกต่อไป()
เจ้าเขมรเสียงแตก เรื่องถือหางข้างฝรั่งเศส
แต่จุดประสงค์ของพระนโรดมก็เป็นเพียงความคิดเห็นด้านเดียวในโลกส่วนพระองค์ที่ทรงจินตนาการไปเอง เพราะคนรอบข้างพระองค์ก็มิได้คล้อยตามความคิดเห็นเกี่ยวกับฝรั่งเศสไปเสียทุกเรื่อง โดยเฉพาะพี่น้องท้องเดียวกันที่กลายเป็นหอกข้างแคร่ตลอดรัชสมัยอันเปราะบางของพระองค์ สมเด็จพระหริรักษ์ฯ ผู้เป็นพระชนกของพระนโรดม มีพระราชโอรสธิดารวม 18 พระองค์ด้วยกัน คือ
- นักองราชาวดี (ต่อมาเป็นพระนโรดมพรหมบริรักษ์)
- นักองศรีสวัสดิ์
- นักองสีวัตถา
- นักองศิริวงศ์
- นักองแก้วมโนหอ
- นักองสุวรรณหงส์
- นักองตรอหุก
- นักองจงกลนี
- นักองพระราชธิดา
- นักองศรีวรกษัตริย์
- นักองอุบลปรีดา
- นักองกระเบน
- นักองสรออุก
- นักองกระเมียด
- นักองดอกเดื่อ
- นักองตรอลน
- นักองมุม
- นักองเภา
ในจำนวนนี้ พระโอรสลำดับที่ 1-4 จะเป็นผู้มีอิทธิพลทางการเมืองตลอดรัชสมัยของพระนโรดม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการตกเป็นรัฐในอารักขาฝรั่งเศสโดยการยินยอมของพระนโรดม แต่บรรดาพี่ๆ น้องๆ กลับไม่เห็นด้วย ภายหลังที่สมเด็จพระหริรักษ์ฯ สิ้นพระชนม์ลงใน พ.ศ. 2403 (ค.ศ. 1860) นั้น พระมหากษัตริย์ไทยซึ่งทรงอยู่เบื้องหลังการปกครองภายในเขมรเตรียมการสถาปนากษัตริย์เขมรองค์ใหม่ให้ไปครองกรุงกัมพูชา โดยรัชกาลที่ 4 ของไทยได้ทรงคัดเลือกพระโอรสองค์โตของสมเด็จพระหริรักษ์ฯ อันได้แก่พระนโรดมให้ขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ต่อไป()
การสถาปนาพระนโรดมเป็นที่คัดค้านของเจ้าพี่เจ้าน้องภายในราชวงศ์เขมรเอง เพราะเห็นพ้องกันว่าพระนโรดมเป็นตัวเลือกที่ไม่เหมาะสม อีกทั้งมิได้ทรงเป็นที่รักใคร่ของราษฎร บรรดาหัวเมืองทางภาคตะวันออกซึ่งพระอนุชาองค์อื่นๆ มีอำนาจอยู่ก็พากันกระด้างกระเดื่อง และก่อการกบฏขึ้น ระหว่างปี พ.ศ. 2428-29 (ค.ศ. 1885-86) หัวหน้ากบฏซึ่งนำโดยพระอนุชาองค์ที่ 3 คือ เจ้าสีวัตถาไม่ยอมรับการทรงราชย์ของพระนโรดม อันมีสาเหตุมาจากความระหองระแหงกันภายในครอบครัวซึ่งมีมานานแล้ว
นอกจากจะไม่เห็นด้วยกับการมีพระนโรดมเป็นกษัตริย์แล้ว เจ้าสีวัตถายังแสดงตนเป็นปฏิปักษ์ต่อฝรั่งเศสอีกด้วย จึงได้ปลุกระดมมิให้ขุนนางทั้งหลายยอมรับอำนาจของฝรั่งเศส ซึ่งกดขี่ข่มเหง ขูดรีด และสร้างความเลวร้ายยิ่งกว่าตอนที่เขมรเคยเป็นเมืองขึ้นของไทยเสียอีก(1) และ()
ก่อนหน้าสัญญากับฝรั่งเศสในปี พ.ศ. 2407 (ค.ศ. 1864) เขมรมีการปกครองแบบจารีตโบราณ โดยมีราชสำนักไทยเป็นพี่เลี้ยงและที่ปรึกษาอย่างเป็นทางการ เมื่อมีปัญหาภายในครอบครัว พระมหากษัตริย์ไทยก็มักจะทรงยื่นมือเข้าไปแก้ไขและสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในหมู่พี่น้องเรื่อยมา แต่พอฝรั่งเศสเข้ามาปกครองแทน ก็ได้เข้าควบคุมและจัดการเปลี่ยนแปลงลักษณะการเมืองแบบโบราณของเขมรซึ่งฝรั่งเศสรับไม่ได้ โดยการแต่งตั้งข้าหลวงฝรั่งเศสให้ไปประจำการตามหัวเมือง
มาตรการใหม่ๆ ที่ฝรั่งเศสนำมาใช้คือ การยกเลิกทาสติดดินซึ่งดำเนินมาหลายศตวรรษ ยกเลิกการถือครองที่ดินของผู้มีบรรดาศักดิ์ และเก็บภาษีโดยตรงจากพ่อค้าและราษฎร มาตรการเหล่านี้ทิ่มแทงหัวใจของชาวเขมรที่ยังยึดติดกับจารีตแบบโบราณและระบอบอุปถัมภ์ ส่วนคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือขุนนางที่ส่งส่วยให้ราชสำนักอีกทีหนึ่ง()
การกบฏในระหว่าง พ.ศ. 2428-29 ทำให้ฝรั่งเศสตระหนักว่า พระนโรดมที่ฝรั่งเศสสนับสนุนอาจเป็นต้นเหตุหลักของระบอบจารีตโดยแท้จริง และวิธีเดียวก็คือ ต้องปลดพระองค์ออก แต่เนื่องจากเกรงว่าการหักด้ามพร้าด้วยเข่าอาจเป็นการสุมเชื้อเพลิงให้ไฟกบฏลุกลามไปทั่วประเทศ จึงประวิงเวลาเพื่อยืดการปฏิรูปออกไป ในขณะเดียวกันก็มีท่าทีสนับสนุนพระหริราชดไนยไกรแก้วฟ้า (นักองศรีสวัสดิ์) พระอนุชาองค์ที่ 2 ให้มีอำนาจมากกว่าพระนโรดมผู้เป็นพระเชษฐา ความขัดแย้งและความไม่ไว้วางใจภายในราชวงศ์เขมรจึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และไม่มีทีท่าจะเบาบางลง()
ขณะที่พระนโรดมทรงราชย์นั้นก็ทรงเป็นเพียง ”กษัตริย์หุ่น” ที่ถูกเชิดโดยรัฐบาลฝรั่งเศส เป็นเหตุให้ราษฎรเสื่อมศรัทธา แม้แต่พระโอรสของพระนโรดมเอง ซึ่งตามรูปการณ์แล้วน่าจะอยู่ข้างพระนโรดมในฐานะองค์รัชทายาท แต่กลับไปช่วยเหลือฝ่ายกบฏต่อต้านฝรั่งเศส เจ้าชายองค์หนึ่งซึ่งเป็นพระโอรสองค์โตของพระนโรดม มีพระนามว่า “เจ้าดวงจักร” (Prince Duong Schack) จะเป็นผู้มีบทบาทมากที่สุดคนหนึ่งในการต่อต้านนโยบายของพระชนก และเป็นตัวเอกของเรื่องนี้
เจ้าดวงจักรเป็นใคร?
เจ้าดวงจักรเป็นพระโอรสองค์โตในเจ้าจอมมารดาพระสนมเอกของพระนโรดม คือ พระแม่นางสุชาติบุปผา เจ้าดวงจักรเป็นพระโอรสที่เกิดในระบอบจารีตอันเคร่งครัดของราชสำนักเก่าที่เมืองอุดงมีชัย มีความเฉลียวฉลาด แต่เป็นคนโผงผาง ไม่เกรงกลัวใคร มีพระอุปนิสัยแตกต่างจากพระนโรดมโดยสิ้นเชิง เจ้าดวงจักรจึงเป็นที่รักใคร่ของเสด็จอาคือเจ้าสีวัตถา เจ้าสีวัตถาเป็นนักการเมืองหัวรุนแรง เป็นคนตรงแบบยอมหักแต่ไม่ยอมงอ จึงเข้ากันเป็นปี่เป็นขลุ่ยกับเจ้าดวงจักรผู้หลานอย่างสนิทสนมกลมเกลียว()
ตั้งแต่พระนโรดมทรงราชย์ใหม่ๆ ใน พ.ศ. 2407 (ค.ศ. 1864) นั้น รัฐบาลฝรั่งเศสต้องการสร้างเมืองหลวงใหม่ให้พระองค์ประทับที่พนมเปญเพื่อเปิดศักราชใหม่ของการปกครองโดยมีฝรั่งเศสเป็นนายทุนใหญ่ จึงต้องการให้ราชสำนักแยกตัวออกมาจากเมืองหลวงเก่าที่อุดงมีชัยซึ่งพระมหากษัตริย์ไทยสร้างให้ แต่ปรากฏว่าเฉพาะกลุ่มของพระนโรดมเท่านั้นที่ย้ายออกไป
ทว่าเมืองอุดงมีชัยก็ยังเป็นที่พำนักถาวรของสมเด็จพระพันปีหลวงและราชสำนักฝ่ายในซึ่งเป็นศูนย์กลางของราชวงศ์ขนาดใหญ่ เป็นที่น่าสังเกตว่าสมเด็จพระพันปีหลวงเป็นเจ้านายชั้นสูงผู้มากด้วยบารมีและให้การสนับสนุนฝ่ายกบฏ ซึ่งนำโดยพระอนุชาอีกหลายองค์ของพระนโรดมให้ต่อต้านฝรั่งเศส อาจกล่าวได้ว่าตั้งแต่ฝรั่งเศสเข้ามามีอำนาจควบคุมกิจการภายในประเทศนี้ ราชสำนักเขมรก็แตกแยกออกเป็นก๊กเป็นเหล่า และรวมกันไม่ติดอีกเลย()
การที่เจ้าดวงจักรติดต่อลับๆ กับฝ่ายกบฏ และมีเส้นสายกับขุนนางในระบอบเก่า ที่ยังมีอิทธิพลตามหัวเมืองในภูมิภาคต่างๆ ทั้งยังได้รับการสนับสนุนด้านปัจจัยต่างๆ จากสมเด็จพระอัยยิกา (สมเด็จพระพันปีหลวง) อย่างเปิดเผยนั้น ทำให้เจ้าดวงจักรเป็นผู้กว้างขวางในระบบการเมืองเขมร แม้แต่กับข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสประจำพนมเปญ ก็ยังต้องเก็บเจ้าดวงจักรไว้เป็นคนกลางเมื่อถึงคราวจำเป็น
แต่การที่เจ้าดวงจักรเป็นพระโอรสหัวแก้วหัวแหวนของพระนโรดม ไม่ได้แปลว่าเจ้าดวงจักรจะทำอะไรๆ ตามพระทัยของพระชนกไปหมดทุกอย่าง โดยเฉพาะเมื่อเจ้าดวงจักรอยู่ฝ่ายเดียวกับเจ้าสีวัตถาซึ่งต่อต้านพระนโรดม และต่อต้านการปกครองของฝรั่งเศสทางอ้อม แต่เจ้าดวงจักรก็เป็นคนกลางที่เข้ากับเจ้าเขมรทุกกลุ่มได้โดยไม่ผิดสังเกต ตรงนี้ทำให้งานของเจ้าดวงจักรดำเนินไปอย่างสะดวกรวดเร็วกว่าเจ้านายก๊กอื่นๆ และเป็นผู้เหมาะสมที่จะทำงานภาคสนามได้อย่างคล่องตัว
จากการที่เจ้าดวงจักรเป็นผู้ก่อการและเป็นแกนนำคนหนึ่งในกลุ่มกบฏของเจ้าสีวัตถาระหว่างปี พ.ศ. 2428-29 (ค.ศ. 1885-86) ซึ่งถึงแม้ว่าทำการไม่สำเร็จ แต่เจ้าสีวัตถาก็ได้มอบความไว้วางใจให้เจ้าดวงจักรเป็นผู้สืบสานอุดมการณ์ต่อไปและก่อนที่เจ้าสีวัตถาจะทิวงคตในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2434 (ค.ศ. 1891) นั้น เป็นที่รู้กันสำหรับคนวงในว่าเจ้าดวงจักรเป็นคนกลางประสานให้ฝ่ายกบฏและข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสได้เจรจากันจนเกือบจะบรรลุข้อตกลงในการประนีประนอมกันได้ ผลงานของเจ้าดวงจักรนับว่ามีคุณประโยชน์มากกว่าพระนโรดมผู้เป็นบิดาหลายเท่า ดังปรากฏว่าพระนโรดมไม่ทรงเคยประสบความสำเร็จในการปราบกบฏให้ราบคาบลงได้ จนกระทั่งกลุ่มกบฏของก๊กเจ้าสีวัตถามีอันแตกสลายลงไปเอง()
อย่างไรก็ดีความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าดวงจักรกับพระนโรดมผู้บิดาก็มิได้ราบรื่นในสายตาคนภายนอกเท่าใดนัก ปัญหาเรื่องรัชทายาทต่อจากพระนโรดมจึงเป็นเรื่องคลุมเครือที่ไม่มีข้อยุติ และเป็นสาเหตุที่ทำให้ฝรั่งเศสคิดการณ์ไกลที่จะสถาปนาพระอนุชาองค์รองคือเจ้าศรีสวัสดิ์ผู้ซึ่งฝักใฝ่ฝรั่งเศสเต็มที่ให้เป็นผู้เหมาะสมที่สุดที่จะสืบแผ่นดิน
ในปี พ.ศ. 2431 (ค.ศ. 1888) ข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสรายงานเข้าไปยังปารีสว่า พระนโรดมมิได้ทรงวางตัวผู้ใดในตำแหน่งรัชทายาท แต่ในพระทัยแล้วจะมีก็แต่เจ้าดวงจักรเพียงผู้เดียวเท่านั้น ทว่าภาพลักษณ์เชิงลบของเจ้าดวงจักรก็มิได้ทำให้ฝรั่งเศสสบายใจเลย อีก 2 ปีถัดมา ข้าหลวงคนใหม่จากฝรั่งเศสชื่อ เมอร์สิเออร์เวอร์เนวีล (M. Verneville) รายงานพฤติกรรมอำพรางเกี่ยวกับเจ้าดวงจักรเข้าไปยังปารีส โดยเปรียบเปรยท่านเป็นเมฆดำที่ปลายขอบฟ้า (Dark Cloud on the Horizon)และ()
ความเฉลียวฉลาดและกล้าหาญอย่างบ้าบิ่นของเจ้าดวงจักรเป็นสิ่งที่เมอร์สิเออร์เวอร์เนวีลหวั่นใจเสมอ ประกอบกับพื้นเพเดิมของตัวเจ้าเองที่ยังมีเจ้านายในระบอบเก่าให้ท้ายอยู่มาก พระชนนีของเจ้าดวงจักร คือ พระแม่นางสุชาติบุปผา เป็นข้าหลวงเดิมขึ้นตรงกับสำนักของสมเด็จพระพันปีหลวง ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าสนับสนุนนโยบายข้างไทยมาแต่เดิม ซึ่งก็คือต่อต้านฝรั่งเศส เมอร์สิเออร์เวอร์เนวีลได้ใช้ไม้แข็งกดดันให้พระนโรดมกักบริเวณเจ้าดวงจักรอย่างเข้มงวดภายในวังหลวง แต่เจ้าดวงจักรก็หลบหนีออกมาได้()
ต่อมาก็มีกระแสข่าวว่าเจ้าดวงจักรกำลังจะเดินทางไปฝรั่งเศสโดยผ่านทางเมืองไทย ข่าวนี้ถูกรายงานทันทีในหน้าหนังสือพิมพ์ที่กรุงเทพฯ แจ้งให้สังคมรู้ว่าการมาของเจ้าดวงจักรมีนัยทางการเมืองมากกว่าการแวะเยือนแบบธรรมดา()
เจ้าดวงจักร สายลับสองหน้าในกรุงเทพฯ
ถึงแม้เจ้าดวงจักรจะเป็นนักการเมืองที่มีกิตติศัพท์ว่าเป็นผู้นิยมนโยบายข้างไทย หรือโปรไทยทางสายสมเด็จพระพันปีหลวงก็ตาม แต่การที่เจ้าดวงจักรเองก็ยังคบค้าอยู่กับรัฐบาลฝรั่งเศส และเป็นพระโอรสของพระนโรดมที่ต่อต้านไทยอย่างเข้มแข็ง การมาของเจ้าดวงจักรในระหว่างที่เรือรบฝรั่งเศสถูกสั่งให้ระดมพลสู่น่านน้ำไทยมิได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นแม้แต่น้อย หนังสือพิมพ์ธรรมสาตรวินิจฉัยรายงานทันทีว่าเจ้าเขมรกำลังเข้ามาหาข่าวในกรุงเทพฯ
เจ้าดวงจักรบุตรองค์นโรดม
เจ้าดวงจักรบุตรองค์นโรดม เจ้ากรุงกำพูชาคนนี้ เดิมได้หนีมาจากประเทศเขมรเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารอยู่ในกรุงเทพฯ ก่อนเวลาที่ฝรั่งเศสกับไทยวิวาทกัน ครั้นภายหลังหนีออกจากกรุงเทพฯ ออกไปยังกรุงฝรั่งเศศ เพื่อจะไปรับอาษาฝรั่งเศศเข้ามาคิดร้ายต่อกรุงสยาม ราชาธิปไตยฝรั่งเศศเหนว่าเจ้าดวงจักรคนนี้โหยกเหยกเกะกะมาก จึงได้เนระเทศให้ไปจากกรุงปารีศ ให้ไปอยู่ในเมืองแขกแอลจีเรีย ซึ่งเปนหัวเมืองขึ้นของฝรั่งเศศ เราได้ทราบข่าวเมล์จากทวีปยุโหรบ เรื่องเจ้าดวงจักรมีเรื่องราว ดังจะว่าต่อไปข้างล่างนี้
เจ้าดวงจักรคนนี้อายุประมาณ 32 ปีได้กระทำการให้เปนที่เดือดร้อนรำคารใจต่อราชาธิปไตยฝรั่งเศศมาก บัดนี้ได้เข้ามาอยู่ในกรุงปารีศประมาณเดือนเศศแล้ว เดิมเมื่ออยู่ในประเทศเขมรนั้นเจ้าดวงจักรได้วิวาทบาดหมางกับองค์นโรดมผู้บิดา องค์นโรดมทรงพระพิโรธว่า เจ้าดวงจักรคิดจะทำร้ายพระองค เจ้าดวงจักรจึงหนีไปอยู่ในกรุงสยาม ครั้นฝรั่งเศศวิวาทขึ้นกับไทย เจ้าดวงจักรจึงมาทวีปยุโหรบ มาขอรับอาษาราชาธิปไตยฝรั่งเศศว่าจะไปคิดก่อการจลาจลวุ่นวายขึ้นในกรุงสยามช่วยฝรั่งเศศ แล้วจะไปคิดกำจัดอังกฤศเสีย มิให้เปนใหญ่อยู่ในเขตรแดนเมืองเงี้ยวได้
คนจดหมายเหตุของหนังสือพิมพ์อังกฤศ ชื่อ เดลี เตเล คราฟ ได้กล่าวว่ากระทรวงว่าการต่างประเทศ และกระทรวงว่าการเมืองโกโลนีในกรุงปารีศ มิได้รับรองเจ้าดวงจักรเลย เจ้าดวงจักรเปนหนี้ค่าเช่าโฮเตลมากขึ้นทุกที พวกเจ้าหนี้ก็ตามมาทวงเงินร่ำไป เจ้าดวงจักรจึงบอกให้พวกเจ้าหนี้ทั้งหลายไปทวงเอากับราชาธิปไตยฝรั่งเศสเถิด เหตุฉะนี้พวกเสนาบดีฝรั่งเศสจึงเหนว่าจะนิ่งอยู่ให้เจ้าดวงจักรทำดังนี้ไม่ได้ จึงได้มีโทรเลขถามองค์นโรดมมาว่า พระองคท่านจะยอมให้เงินเบี้ยเลี้ยงแก่เจ้าดวงจักรบ้างฤาไม่ องคนะโรดมจึงโทรเลขตอบไปว่า เจ้าดวงจักรคิดจะฆ่าข้าพเจ้าอยู่ ให้ทำโทษกับมันอย่างคนคิดขบถเถิด เสนาบดีฝรั่งเศสจึงอนุญาตจ่ายเงินแผ่นดินเปนเบี้ยเลี้ยงให้แก่เจ้าดวงจักรอาทิตยละ 100 บาท (คือ 11 ปอนด์) เสมอไป แล้วให้ไปอยู่ในเมืองแขกแอลจีเรีย เจ้าดวงจักรก็ยอมตามนี้ เพราะเวลานั้นเจ้าดวงจักรกับภรรยาเช่าโฮเตลอย่างถูกอาไศยอยู่ และขัดขวางเงินอยู่ด้วยไม่มีพอใช้หนี้สิน
อยู่มาพายหลังเจ้าดวงจักรก็ไม่ยอมไปเมืองแขกแอลจีเรีย ขืนดื้ออยู่ในกรุงปารีศ กระทรวงเมืองจึงให้มองสิเออร์ คอ ดอง นายพลตระเวนมืดจับตัวเจ้าดวงจักร พาไปส่งเมืองแขกแอลจีเรีย มองสิเออร์ คอ ดอง กับ ดอกเตอรฮาน ซึ่งเป็นข้าหลวงรักษาราชการอยู่ในกรุงกำพูชาได้ไปบอกแก่เจ้าดวงจักรโดยดี เจ้าดวงจักรก็ไม่ยอมกลับพูดจาอยาบช้าต่อฝรั่งเศศมาก แล้วเจ้าดวงจักรว่าถ้าจะขืนให้ไปก็ได้ฉุดลากเอาไปเถิด
ขะณะนั้นพวกพลตระเวนถือตระบอง เข้าฉุดเจ้าดวงจักรมาขึ้นรถจ้าง เจ้าดวงจักรร้องโวยวายอึกกระทึกเหมือนเด็กทารก แล้วขับรถไปยังโรงพักรถไฟ ครั้นเข้าไปในรถไฟแล้ว เจ้าดวงจักรจึงว่ากับมองสิเออร์ คอ ดอง ว่าไม่ขัดขวางแล้ว ยอมตามคำบังคับของราชาธิปไตยฝรั่งเศศ ผู้สำเร็จราชการเมืองแขกแอลจีเรียได้จัดเรือนไว้ให้เจ้าดวงจักรแล้ว และเสนาบดีฝรั่งเศศได้บอกแก่ภรรยาเจ้าดวงจักรด้วยว่า เสนาบดีฝรั่งเศศไม่ยอมให้อยู่ในกรุงฝรั่งเศศ ภรรยาเจ้าดวงจักรไปอาไศรยอยู่กับหญิงฝรั่งเศศผู้หนึ่งชื่อ มาดามบรู รัวๆ ผู้นี้พูดติเตียนฝรั่งเศศมากที่จับเจ้าดวงจักรไป
ครั้นภรรยาเจ้าดวงจักรทราบว่าเสนาบดีฝรั่งเศสบังคับให้ไปเสียจากกรุงฝรั่งเศศ จะไปอยู่กับเจ้าดวงจักรในเมืองแขกแอลจีเรีย ฤาจะกลับไปเมืองเขมรก็ตามใจ ภรรยาเจ้าดวงจักรร้องให้เศร้าโศรกมาก ถ้าไม่ไปโดยดี ก็จะให้พลตระเวนจับตัวคุมไปส่งจงได้()”
สายลับสองหน้าเข้าตาจน
สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเจ้าดวงจักรมาถึงกรุงเทพฯ คือ ท่านได้เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกต่อนายวิเลย์ (Le Myre De Vilers) อดีตข้าหลวงใหญ่แห่งอินโดจีนฝรั่งเศสประจำไซ่ง่อน (ในสมัยนั้นฝรั่งเศสในไซ่ง่อนจะบังคับบัญชาข้าหลวงประจำเมืองเขมรอีกทีหนึ่ง – ผู้เขียน) ขณะปฏิบัติภารกิจอยู่ในกรุงเทพฯ ในฐานะทูตพิเศษเข้ามาเจรจาทำสัญญาสงบศึกในวิกฤติการณ์ ร.ศ. 112 จากนั้นเจ้าดวงจักรก็เดินทางต่อไปยังปารีสเพื่อร้องขอความเป็นธรรมจากรัฐบาลฝรั่งเศส ในกรณีถูกคุกคามสวัสดิภาพ ทำให้เสียอิสรภาพโดยเมอร์สิเออร์เวอร์เนวีล ข้าหลวงใหญ่ประจำพนมเปญ()
แต่การที่สำนักข่าวการเมืองฝ่ายขวาจัดของคู่กรณีทั้ง 2 ประเทศ คือ L’Univers illustré (ของฝรั่งเศส) และธรรมสาตรวินิจฉัย (ของไทย) ประโคมข่าวเกี่ยวกับเจ้าดวงจักรไปในทางลบแบบเดียวกัน ในลักษณะ หุ้นส่วนข่าว มากกว่าที่จะแสดงความเป็น “คู่แข่ง” เพื่อช่วงชิงพื้นที่ข่าว โดยปรักปรำเจ้าดวงจักรว่าเป็นสายลับของฝ่ายตรงข้ามด้วยกันทั้งคู่ สร้างกระแสสายลับต่างชาติให้ดูเข้มข้นเป็นจริงเป็นจังขึ้น ทั้งที่ในความเป็นจริงต่างฝ่ายต่างก็ไม่อาจรับรองรายงานข่าวที่ตนได้รับว่าเท็จจริงขนาดไหน
ทั้งนี้ผู้เขียนจะไม่ขอวิพากษ์วิจารณ์รายงานที่ว่า ”ครั้นฝรั่งเศศวิวาทขึ้นกับไทย เจ้าดวงจักรจึงมาทวีปยุโรป มาขอรับอาษาราชาธิปไตยฝรั่งเศศว่าจะไปคิดก่อการจลาจลวุ่นวายขึ้นในกรุงสยามช่วยฝรั่งเศศ” เพื่อให้ความเคารพในวิจารณญาณของนักข่าวไทยในที่เกิดเหตุ ซึ่งน่าจะรู้ความเคลื่อนไหวและเข้าใจสถานการณ์ต่างๆ ดีกว่าคนรุ่นเราในปัจจุบัน() และ()
เมื่อเจ้าดวงจักรเดินทางถึงปารีสแล้ว ท่านก็ได้กลายเป็นข่าวซุบซิบในคอลัมน์ข่าวสังคมที่ชอบขุดคุ้ยเรื่องไม่ดีของบรรดาข้าราชการในอาณานิคมต่างๆ ซึ่งย่อมจะสร้างความอับอายให้กับรัฐบาลฝรั่งเศสอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น ทางปารีสได้ยื่นคำร้องมายังพระนโรดมให้ลงโทษพระโอรสของตนเองที่สร้างความฉาวโฉ่ให้กระทรวงอาณานิคม
ต่อมาในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2436 (ค.ศ. 1893) เจ้าดวงจักรก็ถูกจับกุมในข้อหาก่อความวุ่นวายขึ้นที่ปารีส และถูกเนรเทศออกไปยังประเทศแอลจีเรีย เมืองขึ้นของฝรั่งเศสทางทวีปแอฟริกาเหนือ ท่านถูกคุมขังอยู่ที่นั่นจนเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำใน พ.ศ. 2440 (ค.ศ. 1897) นักประวัติศาสตร์กล่าวว่าเรื่องของเจ้าดวงจักรเป็นหลุมดำในประวัติศาสตร์ที่ลึกลับ ต่อมาเรื่องก็เงียบหายไปกับกาลเวลา()
บางทีพระนโรดมจะต้องการเจ้าดวงจักรพอๆ กับที่ฝ่ายกบฏก๊กเจ้าสีวัตถาต้องการท่านเช่นกันเพื่อใช้เป็นกระบอกเสียงของฝ่ายตน แม้แต่รัฐบาลฝรั่งเศสเองก็ยังเรียกใช้เจ้าดวงจักรเมื่อถึงคราวจำเป็น การจากไปของเจ้าดวงจักรด้วยวิธีเนรเทศตัดตอนโดยรัฐบาลฝรั่งเศส อาจเป็นการยุติบทบาทของสายลับสองหน้าที่รู้เรื่องมากเกินไป และกลายเป็นหนามยอกอกของรัฐบาลฝรั่งเศสที่บงการอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ทั้งในอินโดจีน และกรณี ร.ศ. 112 ก็เป็นได้
เอกสารประกอบการค้นคว้า
(1) ไกรฤกษ์ นานา. ”รัชกาลที่ 4 ทรงคิดอย่างไรกับการเสียดินแดน ’ครั้งแรก’?”, ใน “ค้นหารัตนโกสินทร์” สิ่งที่เรารู้อาจไม่ใช่ทั้งหมด. กรุงเทพฯ : มติชน, 2552.
(2) . ”สืบจากภาพ หลักฐานใหม่ พลิกประวัติศาสตร์ ใคร ’สวมมงกุฎ’ กษัตริย์เขมร?”, ใน ค้นหารัตนโกสินทร์ (2) เทิดพระเกียรติ 100 ปี วันสวรรคตรัชกาลที่ 5. กรุงเทพฯ : มติชน, 2553.
(3) ธรรมสาตรวินิจฉัย ฉบับที่ 57 วันอาทิตย์ที่ 29 ตุลาคม ร.ศ. 112 (ด้วยความเอื้อเฟื้อของ พลตรี หม่อมราชวงศ์ศุภวัฒย์ เกษมศรี)
(4) อัช บุณยานนท์, ร.อ.ต. (แปล). รายงานการเดินทางของเรือโคเมต, ฝรั่งเศส-สยาม ร.ศ. 112. กรมยุทธศาสตร์ทหารเรือ, พ.ศ. 2473.
(5) เอกสารทางประวัติศาสตร์ จากศูนย์ข้อมูลของพิพิธภัณฑ์กองทัพเรือ ณ ปราสาท Chateau De Vincennes, Paris พบครั้งแรกเมื่อ 20 มกราคม 2551.
(6) L’Univers illustré, Paris, 8 Juillet 1893.
(7) Osborne, Milton E. The French Presence in Cochinchina and Cambodia. White Lotus, 1997.
หมายเหตุ บทความในนิตยสารชื่อ สายลับสองหน้าจากกัมพูชา กลางวิกฤติการณ์ ร.ศ. 112 ในเงามืดของประวัติศาสตร์